ประเภทสื่อ
รีวิวสื่อสร้างสรรค์ ชุดความรู้ทีี่ท่านอาจสนใจ หรือกำลังค้นหาอยู่ ดูทั้งหมด

สุขภาพคนไทย 2565

รายงานสุขภาพคนไทยปี 2565 ในวิกฤตโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมสุขภาพกาย สุขภาพจิต การศึกษา ชีวิตการทำงาน เศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำในสังคมชุมชนและครอบครัวในแง่มุมต่างๆ ที่อาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนไทยในระยะสั้นและระยะยาว นอกเหนือจากรายงานผลกระทบที่เกิดขึ้นจากวิกฤตโควิด-19 แล้วก็ยังมีอีก 10 สถานการณ์เด่นที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตสุขภาพกายของคนไทยที่เป็นทั้งเรื่องใหม่และที่ยังรอการแก้ไข เช่น การปลดล็อกกัญชา กัญชงและพืชกระท่อม การโฆษณาอาหารเสริมเกินจริง โรงงานหมิงตี้ระเบิดบทเรียนภัยพิบัติจากโรงงานสารเคมี ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากและการปรับตัว อนาคตเกษตรไทยกับเกษตรอัจฉริยะ ไทยกับ RECP และ CPTPP ข้อดีและสิ่งที่ต้องระวังและสุดท้ายเรื่องการเมืองบนท้องถนนกับทางออก ซึ่งรายงานเล่มนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้นต่อไป

รายงานสุขภาพคนไทย 2564

ขอเรียก 'รายงานสุขภาพคนไทย 2564 ฉบับ COVID-19 มหันตภัยร้ายเขย่าโลก' ว่าเป็นสื่อสร้างสรรค์ไอเท็มเด็ดประจำปีนี้ที่คนไทยทุกคนไม่ควรพลาด เพราะภายในบรรจุเนื้อหาสรุปรวบรวมประเด็นสุขภาพของคนไทยในปี 2563 ที่ผ่านมาไว้อย่างครบถ้วน แน่นครบทุกมิติและทุกประเด็น เหมาะสำหรับทั้งผู้ที่ทำงานด้านสุขภาพ สังคม นักเรียน นักศึกษา นักวิชาการ รวมถึงประชาชนก็อ่านได้ เนื่องจากแม้เป็นข้อมูลทางสุขภาพ แต่ด้วยการจัดวางเนื้อหาทำให้ไม่ใช่ตำราเรียนที่หนักเกินไป . โดยรวมเนื้อหาในหนังสือแบ่งเป็น 4 ส่วน ได้แก่ หมวดตัวชี้วัดสุขภาพพื้นที่ สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ ผลงานดีๆ เพื่อสุขภาพคนไทย มาลองดูรายละเอียดแต่ละส่วนกัน . ส่วนแรก : 10 หมวดตัวชี้วัดสุขภาพพื้นที่ค่ะ มีตัวเลขบทสรุปดัชนีชี้วัดสุขภาพทั้งเรื่องของสุขภาพกาย ใจ อนามัย สิ่งแวดล้อม ฯลฯ แยกเป็นพื้นที่ระดับภาค ไปถึงระดับจังหวัด ตัวอย่างเช่น ผลสำรวจพบว่าคนภาคเหนือมีปัญหาสุขภาพจิตสูงกว่าภาคอื่นๆ หรือ คนภาคกลางมีปัญหาเรื่องของพฤติกรรมสุขภาพมากกว่าภาคอื่น เป็นต้น . ส่วนที่ 2 : 10 สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ ส่วนนี้ก็จะช่วยรวบรวมสถานการณ์เด่นในรอบปีที่ผ่านมา ความน่าสนใจคือไม่ใช่แค่เรื่องโรคภัยไข้เจ็บ แต่รวมไปถึงสุขภาวะด้านสังคม เช่น ม็อบการเมือง ความรุนแรงในเด็ก หรือกระทั่งสิ่งแวดล้อม เช่น ประเด็นคนกับช้างจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร ส่วนนี้จะค่อนข้างสนุกเลย สำหรับคนที่ชอบประเด็นเชิงสุขภาพเชื่อมโยงกับสถานการณ์สังคม . ส่วนที่ 3 : ผลงานดีๆ เพื่อสุขภาพคนไทย ส่วนนี้ทำให้เราผ่อนคลายได้นิดหน่อย ให้กำลังใจเราว่า ขณะสถานการณ์แย่ๆ ช่วงนี้ ก็มีเรื่องดีๆ เหมือนกันนะ เช่น เรื่องนวดไทยได้ขึ้นบัญชีมรดกโลกทางวัฒนธรรม หรือ สสส. คว้ารางวัลองค์กรสร้างเสริมสุขภาพระดับโลก Nelson Mandela . ส่วนที่ 4 : เรื่องพิเศษประจำฉบับ นาทีนี้ไม่พูดถึงคงไม่ได้คือเรื่องของ โควิด 19 ความน่าสนใจคือการสรุปลำดับ Timeline การเกิดโควิดตั้งแต่เริ่มต้นที่ประเทศจีน ในวันที่คนยังเรียกว่า 'โรคปอดบวมลึกลับ' ไปจนถึงการถอดบทเรียนการระบาดรุนแรงในประเทศต่างๆ ทั้งจีน อิตาลี อังกฤษ มาจนถึงการคิดค้นวัคซีนและยารักษาที่มีในปัจจุบัน อ่านแล้วขอบอกว่าสนุกมากๆ ได้ความรู้ทั้งกว้างและลึกจริงๆ . ต้องขอบคุณการทำงานอย่างหนักของผู้จัดทำ ที่สามารถสรุปรวบรวมข้อมูลที่หลากหลายมานำเสนอได้อย่างน่าสนใจ ครบแน่นในทุกมิติเช่นนี้ จึงบอกได้เลยว่า นี่คือไอเท็มสุขภาวะเด็ดที่เราทุกคนไม่ควรพลาดจริงๆ    ขอเรียก 'รายงานสุขภาพคนไทย 2564 ฉบับ COVID-19 มหันตภัยร้ายเขย่าโลก' ว่าเป็นสื่อสร้างสรรค์ไอเท็มเด็ดประจำปีนี้ที่คนไทยทุกคนไม่ควรพลาด เพราะภายในบรรจุเนื้อหาสรุปรวบรวมประเด็นสุขภาพของคนไทยในปี 2563 ที่ผ่านมาไว้อย่างครบถ้วน แน่นครบทุกมิติและทุกประเด็น เหมาะสำหรับทั้งผู้ที่ทำงานด้านสุขภาพ สังคม นักเรียน นักศึกษา นักวิชาการ รวมถึงประชาชนก็อ่านได้ เนื่องจากแม้เป็นข้อมูลทางสุขภาพ แต่ด้วยการจัดวางเนื้อหาทำให้ไม่ใช่ตำราเรียนที่หนักเกินไป . โดยรวมเนื้อหาในหนังสือแบ่งเป็น 4 ส่วน ได้แก่ หมวดตัวชี้วัดสุขภาพพื้นที่ สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ ผลงานดีๆ เพื่อสุขภาพคนไทย มาลองดูรายละเอียดแต่ละส่วนกัน . ส่วนแรก : 10 หมวดตัวชี้วัดสุขภาพพื้นที่ค่ะ มีตัวเลขบทสรุปดัชนีชี้วัดสุขภาพทั้งเรื่องของสุขภาพกาย ใจ อนามัย สิ่งแวดล้อม ฯลฯ แยกเป็นพื้นที่ระดับภาค ไปถึงระดับจังหวัด ตัวอย่างเช่น ผลสำรวจพบว่าคนภาคเหนือมีปัญหาสุขภาพจิตสูงกว่าภาคอื่นๆ หรือ คนภาคกลางมีปัญหาเรื่องของพฤติกรรมสุขภาพมากกว่าภาคอื่น เป็นต้น . ส่วนที่ 2 : 10 สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ ส่วนนี้ก็จะช่วยรวบรวมสถานการณ์เด่นในรอบปีที่ผ่านมา ความน่าสนใจคือไม่ใช่แค่เรื่องโรคภัยไข้เจ็บ แต่รวมไปถึงสุขภาวะด้านสังคม เช่น ม็อบการเมือง ความรุนแรงในเด็ก หรือกระทั่งสิ่งแวดล้อม เช่น ประเด็นคนกับช้างจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร ส่วนนี้จะค่อนข้างสนุกเลย สำหรับคนที่ชอบประเด็นเชิงสุขภาพเชื่อมโยงกับสถานการณ์สังคม . ส่วนที่ 3 : ผลงานดีๆ เพื่อสุขภาพคนไทย ส่วนนี้ทำให้เราผ่อนคลายได้นิดหน่อย ให้กำลังใจเราว่า ขณะสถานการณ์แย่ๆ ช่วงนี้ ก็มีเรื่องดีๆ เหมือนกันนะ เช่น เรื่องนวดไทยได้ขึ้นบัญชีมรดกโลกทางวัฒนธรรม หรือ สสส. คว้ารางวัลองค์กรสร้างเสริมสุขภาพระดับโลก Nelson Mandela . ส่วนที่ 4 : เรื่องพิเศษประจำฉบับ นาทีนี้ไม่พูดถึงคงไม่ได้คือเรื่องของ โควิด 19 ความน่าสนใจคือการสรุปลำดับ Timeline การเกิดโควิดตั้งแต่เริ่มต้นที่ประเทศจีน ในวันที่คนยังเรียกว่า 'โรคปอดบวมลึกลับ' ไปจนถึงการถอดบทเรียนการระบาดรุนแรงในประเทศต่างๆ ทั้งจีน อิตาลี อังกฤษ มาจนถึงการคิดค้นวัคซีนและยารักษาที่มีในปัจจุบัน อ่านแล้วขอบอกว่าสนุกมากๆ ได้ความรู้ทั้งกว้างและลึกจริงๆ . ต้องขอบคุณการทำงานอย่างหนักของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม (วปส.) มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้จัดทำ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่สามารถสรุปรวบรวมข้อมูลที่หลากหลายมานำเสนอได้อย่างน่าสนใจ ครบแน่นในทุกมิติ จนขอเรียกได้ว่านี่คือฐานข้อมูลสุขภาวะคนไทย เป็นไอเท็มสุขภาวะเด็ดที่เราทุกคนไม่ควรพลาดจริงๆ   

หลักสูตร วิชาชีวิต

เมื่อเอ่ยถึงคำว่า ‘ชีวิต’ พวกเราส่วนใหญ่มักนึกถึงสัญลักษณ์แทนความหมายของการ ‘เกิด’ ความเจริญเติบโต ภาพดวงอาทิตย์ที่ทอแสง ต้นอ่อนของใบไม้ดอกไม้ที่ผลิดอกออกใบสดชื่น การออกเดินทาง รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ เสียงหัวใจเต้น ฯลฯ หากใครจะเคยนึกถึงว่า ‘ชีวิต’ ย่อมมีความหมายครอบคลุมไปถึงช่วงเวลาแห่งความหม่นหมอง เจ็บปวด กัดกร่อน ผุพัง ผลไม้สุกงอมที่กำลังจะหลุดจากขั้ว ใบไม้ที่พร้อมจะปลิดปลิว ดวงอาทิตย์ที่เตรียมจะลับขอบฟ้าสู่ความมืดมนของยามค่ำคืน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของคำว่า ‘ชีวิต’ ด้วยเช่นกันมิใช่หรือ? . เมื่อมีเกิดก็ย่อมมีดับ มีพบย่อมมีจาก สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นธรรมชาติเช่นเดียวกับ ‘ชีวิต’ ที่มีเริ่มต้นย่อมมีดับสลาย ทว่าปัจจุบันเทคโนโลยีและความสามารถทางการแพทย์และสาธารณสุขที่รุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว กลับทำให้เราคิดว่า ‘ความตาย’ หรือการดับสลายกลายเป็นเรื่องไม่ธรรมชาติ เป็นความล้มเหลว เป็นเรื่องเลวร้ายที่เราควรต้องผลักไส ต่อสู้ ซึ่งหลายครั้งการดิ้นรนเพื่อให้พ้นหรือหนีห่างจากความตาย สุดท้ายกลับกลายเป็นการสร้างความทุกข์ทรมานให้กับทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแลอย่างแสนสาหัส . จะดีกว่าไหมหากเราได้เตรียมตัวยอมรับว่าแท้จริงแล้ว ‘ความตาย’ เป็นส่วนหนึ่งในธรรมชาติของ ‘ชีวิต’ ที่เราต้องเรียนรู้และยอมรับ หากเราต้องฝึกปรือวิชาชีวิตเพื่อการอยู่อย่างมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีดังที่ยุคสมัยนี้มีหนังสือ How to มากมายออกมาในท้องตลาด อีกด้านหนึ่ง เราก็ควรให้ความสำคัญในการฝึกปรือวิชาชีวิตที่เกี่ยวพันกับ ‘การตาย’ อย่างเป็นสุข ตายดี และตายอย่างมีคุณภาพไม่แพ้กัน ไยเราจะเรียนรู้แต่การเกิดและปล่อยให้ความตายเป็นเรื่องปล่อยไปตามยถากรรมโดยไม่รู้เหนือรู้ใต้ หากเราทุกคนเลือกได้ที่จะ ‘ตายดี’ . หนังสือ ‘วิชาชีวิต’ เล่มนี้ เป็น 1 ในสื่อสร้างสรรค์จากโครงการสื่อสารเพื่อส่งเสริมคุณภาพการอยู่อย่างมีความหมาย จากไปอย่างมีความสุข ปีที่ 2 ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยเนื้อหาในเล่มมีที่มาจากคลิปวิดีโอออนไลน์ทั้งหมด 14 ตอน ครอบคลุมการเรียนรู้เรื่องความตายดีอย่างครบทุกมิติ ทั้งจากแง่มุมของแพทย์ พยาบาล จิตอาสา ผู้ดูแล ผู้ป่วย นักกฎหมาย ฯลฯ . เนื้อหาภายในหนังสือเล่มนี้ จะคลี่ความหมายของคำที่เราเคยได้ยิน แต่ไม่เคยแน่ชัดในความหมายที่แท้จริง ไม่ว่าจะเป็น การดูแลผู้ป่วยในระยะท้าย มีความหมายแตกต่างอย่างไรกับการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง หรือมีความหมายเดียวกับการยุติการรักษาหรือไม่ การุณฆาตกับการตายดีหรือสิทธิในการเลือกตายเป็นเรื่องเดียวกันหรือเปล่า พินัยกรรมกับ Living Well แตกต่างกันอย่างไร . อย่างไรก็ตาม คำว่าเรียนรู้เรื่อง ‘ความตาย’ ใช่ว่าจะไร้ความหมายกับ ‘คนอยู่’ ในหนังสือเล่มนี้ยังมีเนื้อหาที่พูดถึงการสื่อสารระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์ ผู้ป่วยกับพยาบาล ผู้ดูแลและแพทย์ การหาความคิดเห็นที่สองจากแพทย์ที่ทำการรักษา หรือการเตรียมตัวเขียน Living Well ไว้เสียแต่เนิ่นๆ เพื่อให้เราสามารถกำหนดและเลือกวิธีการรักษาให้กับตัวเองได้ในวันที่ยังมีสติสัมปชัญญะอย่างสมบูรณ์ . สิ่งที่น่าสนใจคือ การเรียนรู้วิชาชีวิตในระยะท้าย เพื่อนำสู่การตายดีหรือตายอย่างมีคุณภาพนั้นมิได้มองเพียงแค่มิติทางกายหรือสุขภาพ แต่ยังเต็มเปี่ยมไปด้วยการมองมิติของสุขภาวะทางจิตใจ จิตวิญญาณ ความสัมพันธ์ในระหว่างญาติมิตร ครอบครัว ที่ล้วนเกี่ยวโยงเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันที่จะช่วยสนับสนุนให้มนุษย์ทุกคนมีคุณภาพชีวิตตั้งแต่เกิดไปจนถึงวันสุดท้าย . ย่อหน้าสุดท้ายในบทแรกเรื่อง ‘ตายศาสตร์’ โดย รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีต้นทุนมากมายเพื่อสนับสนุนเรื่องของการตายดี แต่เพียงว่าเรายังไม่ได้ใช้สิ่งที่มีอยู่อย่างเต็มศักยภาพ เรามีระบบครอบครัวญาติมิตรที่ดูแลและไม่ทอดทิ้งกัน มีศาสนาที่ส่งเสริมความเชื่อเดียวกัน หากเรามีการสื่อสารในเรื่องนี้ให้มากขึ้น ก็จะทำให้เรื่องของการตายดีหรือตายอย่างมีคุณภาพเกิดขึ้นได้ในสังคมอย่างแน่นอน . ชวนกันมาเริ่มก้าวแรก เปิดใจเรียนรู้ถึง ‘ความตาย’ ว่าเป็นเรื่องราวธรรมชาติ วันใดวันหนึ่งเราต้องเผชิญหน้ากับความตาย ไม่ว่าจะเป็นความตายของคนใกล้ชิดหรือสุดท้ายของเราเอง และด้วยความจริงที่ว่าความตายไม่เคยกำหนดหรือบอกเวลาล่วงหน้าได้ การเรียนรู้วิชาชีวิตก็เหมือนการมีต้นทุนเก็บติดไว้ในกระเป๋า ถึงยามฉุกเฉิน เราจะรับมือทุกอย่างได้อย่างมีสติ และนำมาพาชีวิตทั้งตัวเราและคนรอบข้างให้มีคุณภาพไปได้ตราบจนลมหายใจสุดท้ายของชีวิต . ** วิชาชีวิตทั้ง 14 ตอนนอกจากการอ่านในรูปแบบสื่อหนังสือแล้ว ยังสามารถติดตามในรูปแบบสื่อคลิปออนไลน์ใน HealthyMediaHub นี้ได้เช่นเดียวกัน **

คู่มือการจัดการเรียนรู้เพื่อสร้างพลเมืองรู้เท่าทันสื่อสำหรับระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

เจาะ 5 ประเด็นสำคัญ ในคู่มือเรียนรู้การเท่าทันสื่อฯ สำหรับวัยรุ่นไทยยุคดิจิทัล . ไม่ว่าเราจะอยู่ในเจเนเรชั่นไหน จะใช้เทคโนโลยีมากน้อยเท่าไรก็ตาม มาถึงวันนี้คงต้องยอมรับแล้วว่าสถานการณ์ต่างๆ ในสังคมไทยทุกระดับ กำลังถูกสื่อสารและรับรู้อย่างรวดเร็ว ผ่านหน้าจอสี่เหลี่ยมเล็กๆ ในมือของทุกคน . และสิ่งที่เราจะต้องยอมรับต่อไปก็คือ สังคมไทยยังกำลังเดินหน้าสู่จุดที่ 'โลกเสมือน' อย่างโลกออนไลน์กำลังรุกเข้ามามีบทบาทต่อทัศนคติ ความคิด ความเชื่อ ความสุข ความทุกข์ ความสัมพันธ์ รวมถึงการก้าวไปสู่การผลักดันประเด็นและเรื่องราวหลายอย่างให้เกิดขึ้นทั้งทางบวกและลบใน 'โลกของความเป็นจริง' ที่เราใช้ชีวิตอยู่ในปัจจุบัน . จึงเป็นเรื่องน่าสนใจที่วันนี้มีการจัดทำสื่อที่เรียกว่า 'คู่มือการจัดการเรียนรู้เพื่อสร้างพลเมืองรู้เท่าทันสื่อ' ขึ้น โดยเล่มแรกจัดทำขึ้นสำหรับการเรียนรู้ในกลุ่มเด็กระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งเป็นช่วงวัยที่มีสถิติการใช้ชีวิตอยู่กับโลกออนไลน์สูงที่สุด . เรามา 'แกะกล่องสื่อใหม่' ชิ้นนี้กัน มาดูกันว่ามีอะไรซ่อนอยู่ในคู่มือเล่มนี้ โดยจะขอสกัดประเด็นเข้มข้นออกมาเป็น 5 ประเด็นสำคัญ กับการตอบคำถามว่า 'ทำไมคู่มือเล่มนี้จึงเหมาะกับวัยรุ่นไทยในยุคดิจิทัล?' . ประเด็นที่ 1 'สร้างทักษะ ไม่ได้แก้ปัญหาเฉพาะหน้า' . สิ่งแรกที่น่าสนใจที่สุดในคู่มือการจัดการเรียนรู้ชิ้นนี้คือ ในคู่มือบรรจุไปด้วย 8 กิจกรรมการเรียนรู้ ที่ถูกออกแบบมาเพื่อสร้างทักษะ (Skill) ให้กับเด็ก เป็นทักษะในการเคารพตัวเอง เคารพผู้อื่น เรียนรู้ทักษะทางอารมณ์ ทักษะการท่องโลกออนไลน์อย่างปลอดภัย เราจะไม่พบการชี้เฉพาะของปัญหาที่ว่า ถ้าถูกกลั่นแกล้งหรือ Bully ต้องทำอย่างไร? หากมีมิจฉาชีพแฝงตัวเข้ามาหาต้องระวังอย่างไร? ตอบโต้อย่างไร? ซึ่งถ้าเปรียบกับการดูแลสุขภาพ คู่มือเล่มนี้ก็คล้ายๆ กับการออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่ดี ได้รับวัคซีนที่จำเป็น ซึ่งจะส่งผลให้ร่างกายมีภูมิต้านทานป้องกันเชื้อโรคต่างๆ ในทำนองเดียวกัน หากเด็กๆ ได้ฝึกฝนทักษะที่จำเป็นในการใช้สื่อออนไลน์ที่บรรจุอยู่ในคู่มือเล่มนี้ เขาก็จะมีภูมิรู้เท่าทันสื่อ สามารถดูแลตนเองจากภัยออนไลน์ที่พลิกแพลงมาในหลากหลายรูปแบบได้อย่างปลอดภัย ซึ่งเป็นเรื่องที่ยั่งยืนกว่าการแก้ปัญหาเฉพาะเรื่องหรือเฉพาะหน้าให้กับเด็กๆ ของเรา . ประเด็นที่ 2 'ครบวงจรการเรียนรู้' . คู่มือการจัดการเรียนรู้ฯ เล่มนี้ คณะผู้จัดทำเป็นอาจารย์และคุณครูที่คลุกคลีอยู่กับเด็กๆ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย กิจกรรมในคู่มือถูกออกแบบ ทดลองและปรับปรุงในห้องเรียนจริงๆ กับเด็กตัวจริงเสียงจริงขณะเดียวกัน ก็มีการออกแบบอย่างสอดคล้องกับหลักการจัดการเรียนรู้ทางทฤษฎีควบคู่กันไป โดยมีทั้งแนวคิดทฤษฎีหลักเพื่อทำความเข้าใจเรื่องของพลเมืองรู้เท่าทันสื่อ วิธีการใช้ชุดกิจกรรม รายละเอียดของแต่ละกิจกรรมที่ละเอียดและชัดเจน ระบุทั้งสมรรถนะ แนวคิด จุดประสงค์ ตัวบ่งชี้พฤติกรรม รวมถึงการระบุสื่ออุปกรณ์ที่ใช้ ขั้นตอน การปรับประยุกต์อย่างละเอียด ท้ายกิจกรรมมีการประเมินผลการเรียนรู้ที่ชัดเจนทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ เรียกได้ว่าคุณครูที่สนใจสามารถนำไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ในห้องเรียนได้ทันทีอย่างครบถ้วน . ประเด็นที่ 3 'เรียนรู้ คิดวิเคราะห์ ไม่ท่องจำ' . จุดเด่นที่สุดของคู่มือนี้ที่เรียกได้ว่าเป็นไฮไลท์เลยก็คือ แต่ละกิจกรรมในคู่มือถูกออกแบบมาให้เด็กๆ เรียนรู้ผ่านการทำกิจกรรมที่หลากหลาย ในระหว่างการทำกิจกรรมเด็กจะได้รับมอบหมายภารกิจต่างๆ มีการจับคู่ จับกลุ่ม ใช้ความคิด แสดงความเห็น อภิปราย รับฟัง วิเคราะห์ และสรุปร่วมกัน ตลอดทั้งคู่มือไม่มีบทเรียนของการท่องจำ ไม่มีบทสรุปด้านเดียวจากผู้สอน มีเพียงขั้นตอนและแนวทางการทำกิจกรรมที่จะช่วยนำทางการจัดการเรียนรู้ให้ไปสู่จุดสุดท้ายที่เด็กจะได้บทสรุปจากการดำเนินกิจกรรมร่วมกันทั้งชั้นเรียน ซึ่งจุดนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะการเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติ การได้ใช้เวลาทบทวนความคิด และกลั่นกรองออกมาเป็นข้อสรุปด้วยตนเองนั้น จะทำให้จดจำได้ยั่งยืนและยาวนานกว่าการท่องจำ และยังทำให้บรรยากาศห้องเรียนเต็มไปด้วยความสนุกและท้าทาย . ประเด็นที่ 4 'ผู้ใหญ่ เด็ก เดินไปด้วยกัน' . ต่อเนื่องมาจากประเด็นที่ 3 เมื่อคู่มือถูกออกแบบให้เป็นการเรียนรู้ ไม่ใช่การท่องจำ ดังนั้น บทสรุปและสิ่งที่ได้มาในแต่ละกิจกรรมจึงแตกต่าง แปลกใหม่ไปทุกครั้งของการเรียนรู้ แม้จะสรุปออกมาคล้ายกัน แต่สถานการณ์ที่เปลี่ยน รายละเอียดความคิดเห็นของผู้เรียนที่แตกต่างย่อมไม่มีทางซ้ำกัน กิจกรรมทั้ง 8 กิจกรรมในคู่มือเล่มนี้ สร้างบรรยากาศที่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้ไปด้วยกันระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ เมื่อเด็กได้พื้นที่ในการแสดงความคิดเห็น ผู้ใหญ่จะได้มีโอกาสฟัง เปิดใจ เข้าใจเด็ก ขณะเดียวกัน เป็นโอกาสที่ดีที่ผู้ใหญ่จะได้แลกเปลี่ยน นำเสนอความคิดเห็นในอีกแง่มุมหนึ่งที่เด็กอาจจะยังไม่ทันมองกลับไป เพื่อเป็นการเติมเต็มซึ่งกันและกัน . ประเด็นที่ 5 'ประยุกต์ใช้ได้ในครอบครัว' . แม้จุดประสงค์หลักเบื้องต้นของคู่มือการจัดการเรียนรู้เพื่อสร้างพลเมืองรู้เท่าทันสื่อสำหรับระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเล่มนี้ จะถูกออกแบบเพื่อนำไปใช้ในระบบการศึกษา ให้คุณครูได้นำไปใช้กับเด็กๆ ในห้องเรียนก็ตาม แต่ทั้ง 8 กิจกรรมในคู่มือ หากตัดรายละเอียดในส่วนที่มีความเป็นวิชาการมากๆ ออกไป ก็จะเห็นว่าเราสามารถหยิบยกกิจกรรมนี้ไปใช้ในเรียนรู้ในครอบครัวได้ โดยไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับตามในคู่มือก็ได้ . ตัวอย่างเช่น กิจกรรม 'เหตุผลหรืออารมณ์' ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ออกแบบมาเพื่อให้ผู้ทำกิจกรรมได้เข้าใจข้อจำกัดทางการสื่อสารและรับรู้ทางอารมณ์ในโลกออนไลน์ เช่น การส่งสติ้กเกอร์หมายความว่าอย่างไร การใช้ถ้อยคำสั้นๆ ตอบรับทางไลน์ คำว่า "อืม" คำเดียวอธิบายความรู้สึกหรืออารมณ์ได้มากน้อยแค่ไหน ฯลฯ เป็นสิ่งที่กิจกรรมนี้ต้องการให้ผู้ทำกิจกรรมได้ตระหนักและมองเห็น ซึ่งกิจกรรมลักษณะนี้ ครอบครัวสามารถหยิบยกไปเปิดประเด็นเรียนรู้และพูดคุยร่วมกันได้เช่นกัน เพราะเชื่อว่าในทุกบ้าน ก็น่าจะมีประสบการณ์การต้องคาดเดาอารมณ์จากสติ้กเกอร์หรือถ้อยคำการสนทนาผ่านช่องทางการสื่อสารออนไลน์ที่คลาดเคลื่อน ตกหล่น หรือสับสนด้วยเช่นกัน   **คู่มือการจัดการเรียนรู้เพื่อสร้างพลเมืองรู้เท่าทันสื่อสำหรับระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จัดทำโดย สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) ร่วมกับ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 1 สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)**

Hearing Test

ทุกวันนี้เราอาจจะได้ยิน....แต่เราไม่เคยได้รับฟัง โดยเฉพาะเสียงจาก 'คนที่เรารัก' . ในแต่ละปี เมื่อวันเวลาพาเราหมุนเวียนกลับมาครบกำหนด "วันแม่แห่งชาติ" ในปฏิทินเดือนสิงหาคม นับเป็นวาระที่ทุกคนต่างเฝ้ารอว่าวันแม่ปีนี้จะมีอะไรพิเศษๆ ออกมาบ้าง? และสำหรับวันแม่ปีนี้ มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แม่ เพจสายสะดือ และ สสส. ได้จับมือร่วมกันผลิตสื่อหนังโฆษณาตัวใหม่ชื่อ Hearing Test โดยฝีมือของครีเอทีฟไดเรคเตอร์มือรางวัล กิตติ ไชยพร จากทีมมานะ และผู้กำกับที่เชี่ยวชาญหนังเชิงทดลอง Social Experiment อย่าง กมลวัฒน์ ชูเตชะ จากบริษัท มีอะไร จำกัด . Hearing Test เป็นภาพยนตร์โฆษณาความยาว 7.39 นาที เกิดขึ้นจากการมองเห็นปัญหาความสัมพันธ์ระหว่าง 'แม่-ลูก' ในบริบทปัจจุบัน ด้วยสภาพความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมที่ผันแปรอย่างรวดเร็ว อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้สายสัมพันธ์ความรักแบบแม่ลูกต้องพลัดหล่นหรือจางหายไปโดยไม่ตั้งใจ อย่างไรก็ตาม บนความเชื่อว่าสายสัมพันธ์ของแม่ลูกนั้น เริ่มต้นครั้งแรก ณ สายสะดือ ที่ผูกพันสองชีวิตไว้ด้วยกันตลอด 9 เดือน แม้ในวันที่สายสะดือถูกตัดขาดออกจากร่างกาย หากสายใยของความเป็นแม่ลูกที่มองไม่เห็นจะยังคงอยู่ แม้จะพร่าเลือน แต่มันไม่เคยหายไปไหน ในความสับสนวุ่นวายของโลกที่หมุนไป ยังมีโอกาสที่สายสัมพันธ์รักนี้จะกลับมาเชื่อมโยงกันได้อีกครั้งเสมอ . ซึ่งภาพยนตร์โฆษณาเรื่องนี้ หาทางออกและสร้างโอกาสของการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของแม่ลูกให้กลับมาอีกครั้ง ด้วยสิ่งที่เรียกว่า 'การรับฟัง' ที่ไม่ใช่เป็นเพียงการ 'ได้ยิน' . กิตติ ไชยพร ครีเอทีฟไดเรคเตอร์ได้กล่าวถึงแนวคิดเบื้องหลังการผลิตหนังเรื่องนี้ไว้ว่า "ผมนึกถึงคำของพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ที่ว่า เราได้ยินแต่ไม่เคยฟัง อย่างคำว่า กินข้าวยังลูก? ถ้าเราได้ยินก็จะมีความหมายแค่ แม่ชวนกินข้าว แต่ถ้าเราได้ฟังเราจะรู้ว่าแม่เป็นห่วงนะ แม่รักลูกนะ มันลึกซึ้งแตกต่างกันเยอะเลย" . เบื้องหลังหนังโฆษณาเรื่องนี้ ได้เปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมผ่านหลากหลายช่องทาง ด้วยโจทย์กว้างๆ ที่ว่า 'มีอะไรที่อยากจะบอกกับแม่หรือลูกของเรา อาจเป็นเรื่องราวที่เคยเข้าใจผิดหรือมีปัญหาระหว่างกันและกัน' ภายใต้คำแนะนำและการทำงานอย่างใกล้ชิดกับทีมนักจิตวิทยา จนสุดท้ายได้ทั้งหมด 6 คู่แม่ลูกที่ปรากฎอยู่ในหนัง โดยระหว่างการถ่ายทำ ผู้ที่ต้องมารับฟังเสียงของแม่และลูกของตัวเองนั้น ทุกคนไม่เคยรู้มาก่อน รู้เพียงแค่ว่าเป็นการมาร่วมแสดงหนังโฆษณารณรงค์การทดสอบการได้ยินเท่านั้น . "หนังเรื่องนี้ทุกอย่างเรียลหมด ดูเหมือนว่าถ้าเราเอาแม่ลูกเขามานั่งเคลียร์กัน ก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นนะ แต่สุดท้ายผมกับทีมก็เชื่ออยู่ลึกๆ ว่า สายสะดือที่มองไม่เห็นนี้ ถึงแม้ว่ามันจะขาดกันไปแล้ว แต่สายสัมพันธ์ของแม่กับลูกก็ไม่มีวันที่จะเกิดผลอย่างที่เราไม่คาดฝันได้ มันเป็น Believe ของงานครั้งนี้ เป็น Believe ของมูลนิธิ พิพิธภัณฑ์แม่ เราเชื่อในความเป็นแม่ ว่าต่อให้ลูกจะไปทำอะไรที่ร้ายแรงแค่ไหน สุดท้ายมันจะกลับมาเชื่อมโยงกันได้ ผมไม่เครียดเลยว่ามันจะพัง ไม่มีเลย" กิตติ ไชยพร ให้สัมภาษณ์ไว้ตอนหนึ่ง เมื่อมีคนถามเขาว่า กังวลใจไหมว่าผลลัพธ์จะออกมาแย่ไม่เหมือนตามที่คาดไว้ . และสุดท้ายหลังการถ่ายทำ ทุกอย่างก็ออกมาเหมือนที่ กิตติ ไชยพร กล่าว แม่ลูกทั้ง 6 คู่กับปัญหาความสัมพันธ์ที่แตกต่าง...หนักเบา...ซับซ้อนไม่เท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นแม่ที่ผิดหวังจากลูกสาวที่พลาดพลั้งตั้งท้อง แม่ที่ลูกชายเวียนวนกับการเข้าออกคุกมาตลอดหลายปี แม่ที่ลูกๆ พี่น้องมีรอยร้าวผิดใจกันอย่างยากจะประสาน แม่ที่เข้าไปยุ่งกับเรื่องส่วนตัวของลูกมากจนเกินไป ฯลฯ ทุกปัญหาของความสัมพันธ์คลี่คลายและได้รับการเยียวยา อาจจะด้วยระดับที่ไม่เท่ากัน แต่อย่างน้อย หัวใจสองดวงที่เคยมีกำแพงกั้น ก็ได้รับการโอบอุ้ม ปลอบประโลม และขยับเข้ามาชิดใกล้กันมากขึ้นด้วยการรับฟังเสียงความรักของอีกฝ่าย . "หนังเรื่องนี้จะเรียกว่าเป็นหนังหรือเปล่าก็ไม่รู้ เพราะมันไม่มีตัวแสดงอะไรเลย ทุกอย่างจริงหมด หนังไม่มีการเทิดทูนพระคุณของแม่ แถมยังจบแบบไม่รู้จะเป็นยังไงต่อไป แต่ในความไม่เคลียร์ ผมคิดว่ามันเคลียร์ไปหมดแล้วว่าหลังจากนี้เราจะต้อง ทำอะไรต่อ มันรู้แล้วเมื่อเราได้ฟังเสียงของอีกฝั่งหนึ่ง" กมลวัฒน์ ชูเตชะ ผู้กำกับที่อยู่เบื้องหลังหนังเรื่องนี้กล่าว และเขายังได้พูดถึงความรู้สึกที่มีต่อหนังเรื่องนี้ทิ้งท้ายไว้อย่างจับใจว่า . "ผมอยากให้ทุกคนดูแล้วกลับมาคิดถึงความรู้สึกของคนที่รักอีกครั้ง อยากให้คิดถึงตอนที่เราเกิดมากับแม่ เรามีสายสะดือเชื่อมโยงกันอยู่ แต่ระยะเวลาทำให้เราเจอกันน้อยลง พูดกันน้อยลง รู้สึกถึงกันน้อยลง ทำให้เกิดปัญหา อยากให้เมื่อดูจบแล้ว เรากลับมารู้สึกกับแม่หรือลูกของเราอีกครั้งเหมือนในวินาทีที่เราเกิดมา" . ชวนไปชม Hearing Test หนังโฆษณาที่คล้ายจะเข้าไปนั่ง ณ จุดเจ็บกลางความสัมพันธ์ระหว่างเรากับใครสักคน บางครั้งอาจเป็นแม่...พ่อ...หรือใครสักคนที่คุณแคร์ ไปชม...ค้นหา...เรียนรู้...เติบโต...เพื่อให้หัวใจของเราเปิดพื้นที่ด้วยการรับฟังกันและกันอีกครั้ง ให้สายสัมพันธ์ที่เคยแตกร้าว...พังทลาย...เลือนหาย...ได้ปรากฎและเชื่อมโยงเราเข้ากับคนที่เรารักอีกครั้งหนึ่ง

สื่อแนะนำ ชุดความรู้ที่่ท่านอาจสนใจ หรือกำลังค้นหาอยู่ ดูทั้งหมด
สื่อล่าสุด ชุดความรู้ที่่ท่านอาจสนใจ หรือกำลังค้นหาอยู่
keyboard_arrow_up

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้และ นโยบายในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่.